ทำเนียบมัสยิด

 



มัสยิดนุรุ้ลอีมาน ชายทะเลบางสะพาน 
: เลขที่ 2 หมู่ 9 ต.พงศ์ประศาสน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

มัสยิดนุรุ้ลอีมาน ชายทะเลบางสะพาน หลังปัจจุบันที่ท่านทั้งหลายได้เห็นและร่วมใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจอยู่เป็นประจำเป็นครั้งคราวก็ดี เป็นอีกหนึ่งมัสยิดซึ่งเป็นศาสนสถานทางศาสนาอิสลามในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้ว (พ.ศ. 2502) หลังจากที่มัสยิดหลังแรกได้จัดสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2475 และได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นอาคารหลังที่ท่านเห็นอยู่นี้ 

ย้อนอดีตกว่าจะมาเป็น.................มัสยิดนูรุ้ลอีมาน บางสะพาน  มัสยิดชายทะเล หนึ่งเดียวบนฝั่งอ่าวไทย

นับเป็นเวลากว่าเกือบ 1 ศตวรรษทีเดียว นับตั้งแต่บรรพบุรุษดั้งเดิมของพี่น้องมุสลิมแห่งหมู่บ้านต้นทองหลางแห่งนี้ ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวอินโดนีเซีย นามว่าฮัจยีอับดุลตอยยิบอับดุลราฮีม ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านบางสะพานน้อย เพื่อมาลงหลักปักฐานสร้างชุมชนแห่งใหม่ โดยยึดอาชีพค้าขายที่อำเภอบางสะพาน(ใหญ่)

ครั้นเมื่อมีพี่น้องมุสลิมได้อพยพเข้ามาอยู่เพิ่มมากขึ้น ความคิดที่จะรวมตัวกันเพื่อให้มีมัสยิดในหมู่บ้าน จึงกลายเป็นความจำเป็นที่จะต้องหารือกัน แทนการที่จะต้องเดินเท้าเลียบชายทะเล เพื่อไปร่วมละหมาดญุมอะห์ที่มัสยิดเดิมที่บ้านบางสะพานน้อย ฮัจยีอับดุลตอยยิบอับดุลราฮีม จึงได้บริจาคที่ดินประมาณ 3 ไร่ เพื่อเป็นการเริ่มโครงการในการก่อสร้างมัสยิดหลังแรกของอำเภอบางสะพาน  ซึ่งตามคำบอกเล่าของผู้อาวุโสระบุว่าอาคารหลังแรกได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นมัสยิดหลังแรกของอำเภอบางสะพาน (ใหญ่) โดยสร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติที่ร่วมกันหามาได้ในท้องที่นั้นเอง

หลังจากนั้นได้มีพี่น้องมุสลิมจากที่ต่าง ๆ อาทิ จังหวัดปัตตานี อยุธยา เพชรบุรี และกรุงเทพมหานครได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้นประมาณ กว่า 20 หลังคาเรือน จึงได้จัดสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นให้กว้างขวางกว่าเดิม ซึ่งบรรดาสัปบุรุษและผู้มีจิตศรัทธาในขณะนั้น ได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์และหาวัสดุก่อสร้างที่จำเป็นเท่าที่จะพอหาได้ในท้องถิ่นนั้นเอง

ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และความเสียสละ ความร่วมมือร่วมแรง ร่วมใจตลอดจนกำลังทรัพย์จากพี่น้องมุสลิมทั้งในท้องถิ่นและต่างท้องถิ่น อาคารมัสยิดฯ ก็ได้มีการปรับปรุง พัฒนาและต่อเติมเรื่อยมาจนเป็นอาคารหลังปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามัสยิดฯ แห่งนี้ยังคงเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ เพื่อใช้เป็นสถานที่รับรองการปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องมุสลิมทั้งในท้องถิ่นและต่างท้องถิ่น การศึกษาอบรมวิชาการศาสนาตามบทบัญญัติของอิสลาม รวมถึงการจัดกิจกรรมทางศาสนาและสังคมของสัปบุรุษและพี่น้องมุสลิมจากท้องที่ต่าง ๆ มาโดยตลอด ภายใต้การบริหารจัดการของผู้นำคืออิหม่าม คอเต็บบิหลั่น และคณะกรรมการประจำมัสยิดฯ นับตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ  นับเป็นคุณูปการอันทรงคุณค่าที่อนุชนรุ่นต่อ ๆ มาจักต้องศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการทำงานในหลาย ๆ ด้านของบรรพชนเหล่านั้น ด้วยการซึมซับสั่งสมนำมาเป็นแบบอย่างเพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการทำงาน เพื่อรับใช้ศาสนาและสังคมที่ทุกคนกำลังมีส่วนร่วมอยู่ ให้เป็นสังคมแห่งจิตวิญญาณและสังคมแห่งการเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างแท้จริง และพร้อมจะมีส่วนในการโอบอุ้มภารกิจและพันธกิจที่ถูกส่งต่อมาและเป็นอมานะห์ที่จะต้องถูกส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังสืบไป (อินชาอัลลอฮฺ)

ย้อนกลับสู่การดูแลรักษาตัวอาคารมัสยิดฯ  เป็นเวลานานเกือบครึ่งศตวรรษตามอายุขัยของอาคารหลังปัจจุบัน ย่อมมีการชำรุดทรุดโทรมของตัวอาคารในหลายส่วน ประกอบกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศตามแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ไอน้ำเค็มและแรงลมทะเลในบางฤดูกาล ย่อมมีส่วนสร้างความเสียแก่ตัวอาคารและวัสดุอุปกรณ์ทั้งภายในและภายนอกมัสยิด รวมถึงความเสียหายของกระเบื้องหลังคาและโครงสร้างบางส่วน ซึ่งมีการรั่วซึมและส่งผลกระทบไปยังงานส่วนอี่น ๆ อาทิ งานไฟฟ้า งานพื้นผิวคอนกรีตและงานฉาบคอนกรีตภายในและนอกอาคาร คณะกรรมการมัสยิดฯ ได้มองเห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดมากขึ้นกับตัวอาคารมัสยิดในอนาคต จึงได้ดำริที่จะดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงและต่อเติมตัวอาคารมัสยิดและบริเวณโดยรอบให้มีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมที่จะรองรับการเข้ามาร่วมกันประกอบศาสนกิจของสมาชิกในชุมชนและพี่น้องมุสลิมจากท้องถิ่นต่าง ๆ ที่แวะเวียนกันมาประกอบศาสนกิจและทำกิจกรรมทางศาสนาและสังคมมากขึ้นโดยลำดับ

เป็นเวลากว่าเกือบ 2 ปี ที่คณะกรรมการมัสยิดฯ ได้ประชุมปรึกษาหารือและวางแผนร่วมกับสถาปนิกในเรื่องขอบเขตและงบประมาณการดำเนินการในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้วางแผนการจัดหางบประมาณของโครงการนี้ ขณะเดียวกันสถาปนิกก็ได้เริ่มทำการศึกษารายละเอียดของโครงสร้างเดิม ออกแบบและคำนวณงบประมาณการทั้งโครงการ นำเสนอต่อคณะกรรมการมัสยิดฯ เพื่อตัดสินใจและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป


ปัจจุบันมีประชากรมุสลิม จำนวน 139 ครัวเรือน  705 คน(ชาย 365 คน, หญิง 340 คน) ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565


หน้าแรก  :   เกี่ยวกับเรา  :   แผนที่  :   ติดต่อเรา
Copyrights © 2014 www.muslimprachuap.com All Rights Reserved.
counter